Racket Boys จบอีพี 16 ไปอย่างท่วมท้นในความรู้สึกของแฟนซีรีส์ ที่แม้ว่าจะมีปัญหาการถ่ายทำ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่กลับมารุนแรงที่เกาหลีใต้ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการออกอากาศเดิมมาจบตอนอวสานหลังปิดกีฬาโอลิมปิก 2020 ไปหนึ่งวัน แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือ มันทำให้แฟนซีรีส์ดูการแข่งขันแบดมินตันในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้สนุกขึ้น เข้าใจมากขึ้น และแอบส่งใจเชียร์ทีมจากเกาหลีใต้ ที่แม้สุดท้ายจะต้องแข่งขันเพื่อชิงเหรียญทองแดงระหว่าง คองฮียอง กับ คิมโซยอง และ อีโซฮี กับ ชินซึงชาน โดยชัยชนะตกเป็นของคู่ คองฮียอง กับ คิมโซยอง
บทความนี้จะเป็นการป้ายยาเพื่อแนะนำซีรีส์นี้เพราะนี่คือซีรีส์สว่างๆ ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย เหมาะกับการเป็นซีรีส์ครอบครัวให้ล้อมวงดูร่วมกันระหว่างกักตัวอยู่บ้าน ที่นอกจากจะได้ความสนุกสนาน ยังได้แรงบันดาลใจจากกีฬาแบดมินตัน และเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างวัยไปพร้อมๆ กัน
เล่าเรื่องย่อกันก่อน
โดยในเรื่องราว Racket Boys เล่าถึงทีมแบดมินตันโรงเรียนมัธยมแฮนัม เมืองท้ายปลายสุดทางใต้ของเกาหลี ที่อยู่ตำแหน่งท้ายสุดของตาราง จนได้ ยุนแฮกัง อดีตนักแบดมินตันอัจฉริยะมาร่วมทีม เพื่อนำพาทีมไปสู่อันดับ 1 ของการแข่งขันกีฬายุวชนแห่งชาติให้ได้ ซึ่งนักแสดงนำในเรื่องนี้ ก็เป็นนักแสดงรุ่นใหม่ของวงการที่แสดงให้เห็นความตั้งใจในการแสดงอย่างยิ่ง
พร้อมด้วยนักเขียน จองโบฮุน เจ้าของเดียวกับซีรีส์ Prison Playbook ที่ผลสำเร็จของงานเขียนแสดงผ่านนักแสดงที่มารับบทรับเชิญชนิดที่ว่าแทบจะยกคุก Prison Playbook กันมา สำหรับผู้กำกับ โชยองกวัง (Heart Surgeons, Defendant, Hyde Jekyll, Me) ก็เป็นอีกครั้งที่เขาแสดงให้เห็นการกำกับที่ผสมผสานดราม่า ตลก แอ็กชัน เอาไว้ได้อย่างลงตัว
การแสดงที่ทุ่มเท
นักแสดงหลักในซีรีส์ต้องเข้าซ้อมแบดมินตันและออกกำลังกายตามแบบนักกีฬาเป็นเวลา 5 เดือนก่อนเริ่มการถ่ายทำ และถ้าหากรวมถึงระยะเวลาระหว่างถ่ายทำด้วย พวกเขาใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 9 เดือนไปกับการเล่นแบดมินตันอย่างจริงจัง จนทำให้คนดูเชื่อได้ว่า พวกเขาคือนักกีฬาแบดมินตันตัวจริง
ทังจุนซัง ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในบท ยุนแฮกัง ว่าเขาใช้เวลาหลายเดือนฝึกซ้อมแบดมินตันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 “ในเรื่องแฮกังเป็นนักแบดมินตันอัจฉริยะ ซึ่งผมต้องทำทุกอย่าง เพราะอยากให้ตัวเองดูเหมือนนักแบดมินตันมืออาชีพจริงๆ ผมต้องการแสดงให้เห็นเทคนิคและการเคลื่อนไหวแบบนักกีฬาอาชีพ ผมเลยต้องฝึกซ้อมหนักมาก มันยากมากจริงๆ นะครับ รวมถึงความท้าทายในเรื่องของการฟิตร่างกายด้วย แต่ผมได้เห็นผลของมันในซีรีส์ก็รู้สึกได้เลยว่าคุ้มค่ากับความตั้งใจแล้ว”
ทังจุนซัง ยังให้สัมภาษณ์ว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เขาเติบโตขึ้น ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เพราะได้ร่วมงานกับนักแสดงรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากมาย และเพื่อนนักแสดงวัยเดียวกันที่ในตอนนี้สนิทสนมกันมากๆ ทั้ง ชเวฮยอนอุค (รับบท นาอูชาน), ซนซังยอน (รับบท บังยุนดัม กัปตันทีม), คิมคังฮุน (รับบท อียงแท น้องเล็กของทีม) และ คิมมินกี (รับบท จองอินซน) พวกเขาได้เรียนรู้กันและกันในการแสดงที่ต้องอาศัยทีมเวิร์กในการถ่ายทอดเรื่องราวออกมา
“พวกเรามีเป้าหมายเดียวกันครับ เราเลยสนิทกันได้เร็วมาก เราซ้อมแบดมินตันด้วยกันซึ่งมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ขนาดว่าอยู่ในกองถ่ายเราก็ยังเล่นแบดมินตันกันสนุกๆ ด้วยครับ ถึงแม้ว่าพวกเราจะอายุไล่เลี่ยกัน แต่เรื่องการแสดงเราช่วยกันมากเลยนะครับเพื่อให้แต่ละฉากดีขึ้น การแสดงของเพื่อนๆ ส่งให้ผมแสดงออกได้ดีขึ้น บางทีเราก็ช่วยกันแชร์ไอเดียว่าจะทำอย่างไรให้ฉากนั้นๆ สนุกขึ้นได้ เราได้เรียนรู้จากกันเยอะมากจริงๆ ”
ชีวิตนักกีฬา วัยรุ่น และโลกอนาคต
ถ้าคุณเป็นแฟนซีรีส์และเป็นแฟนโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่เพิ่งจบไป น่าจะเห็นความเชื่อมโยงกันหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจนคือเรื่องของการกีฬา ฝีมือที่แท้จริง และความมุ่งมั่นสู่ชัยชนะ
ท้ายที่สุดเหรียญรางวัลที่ได้มาก็คือการเอาชนะตัวเอง ด้วยการอยู่ในวินัย ฝึกซ้อมตลอดระยะเวลาก่อนที่การแข่งขันจะมาถึง
น้ำใจนักกีฬาคือการรู้แพ้รู้ชนะ เพราะในสนามที่แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย พอก้าวเท้าออกนอกคอร์ตแล้ว พวกเขาก็คือหนุ่มสาวที่กอดคอเป็นเพื่อนกันได้สนิทใจ และแม้จะเสียใจที่พ่ายแพ้ แต่ก็ยินดีกับชัยชนะของเพื่อนเสมอ
พรมแดนของการกีฬาไม่ได้มีผลกับการแข่งขัน อย่างเรื่องราวในตอนหนึ่งที่ ฮันเซยุน เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งกับนักกีฬาจากญี่ปุ่น ซึ่งโค้ชต่างบอกให้เธอเอาชนะเพื่อประเทศเกาหลี แต่ ฮันเซยุน กลับมองว่า นักกีฬาจากญี่ปุ่นคนนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ และพวกเขาคือเพื่อนมากกว่าศัตรู
ส่วนในอีพี 16 ก็เป็นการบอกเล่าถึงความสำคัญของการฝึกซ้อมกีฬา ควบคู่ไปกับการมีชีวิตวัยรุ่นตามปกติ อย่างที่นักกีฬาทีมชาติ ไอดอลของ ฮันเซยุน เล่าว่าเธอไม่เคยมีเพื่อน ไม่เคยกินต็อกบกกีกับเพื่อนๆ ด้วยซ้ำ เพราะมุ่งมั่นทั้งหมดไปกับการซ้อม เธอได้ฝากให้ ฮันเซยุน เป็นตัวแทนนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็มีชีวิตวัยรุ่นตามปกติได้ด้วย
ชีวิตต่างจังหวัดและระหว่างวัยที่ไม่มีช่องว่าง
Racket Boys ไม่ใช่ซีรีส์กีฬาแบดมินตันเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเส้นเรื่องที่แสดงวิถีชีวิตในต่างจังหวัดของเมืองแฮนัม เมืองชนบทที่เต็มไปด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ทำสวนทำไร่ในแบบที่ห่างไกลกับชีวิตทันสมัยในเมืองหลวง
ความอบอุ่นละเมียดละไมที่เกิดขึ้นไกลแสงสี จึงเป็นอีกเสน่ห์ที่ทำให้ Racket Boys เติมเต็มความรู้สึกนี้ได้ หลายๆ ฉาก ทั้งการล้อมวงกินอาหารเย็น การเดินเข้าป่าไปหาสมุนไพร ช่วยกันเก็บมันฝรั่ง หรือฉากขำๆ ที่พวกเด็กผู้ชายต้องออกมาเข้าห้องน้ำนอกบ้านตอนกลางคืน ความสำคัญของ WiFi และร้านเกมอินเทอร์เน็ต เหล่านี้น่าจะทำให้คนดูที่จากบ้านต่างจังหวัดคิดถึงอดีตอันหอมหวาน และอยากกลับไปหาคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านสักครั้ง
และถ้าจะให้พูดถึงบทสรุปของซีรีส์ Racket Boys ก็คงเป็นไปอย่างที่ คิมซังคยอง ผู้รับบท โค้ชยุนฮยอนจง ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในวันแถลงข่าวซีรีส์เรื่องนี้ “ผมรับแสดงซีรีส์เรื่องนี้เพราะว่าเรื่องราวมันโดดเด่นมาจากเรื่องอื่นๆ เลยครับ มันยูนีกมากๆ เป็นซีรีส์ที่ทำให้คุณยิ้ม และทำให้ร้องไห้ได้ในเวลาเดียวกัน โดยปกติซีรีส์มักจะเล่าเรื่องที่อยู่ในความนิยม แต่ตอนที่ได้อ่านบท Racket Boys ผมก็รู้ได้ทันทีว่าซีรีส์เรื่องนี้คือสิ่งที่ประเทศเรากำลังต้องการตอนนี้ โดยเฉพาะผู้คนที่ทนทุกข์และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์โรคระบาดที่กำลังเป็นอยู่”